Skip to content

ประวัติวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2560 การกำเนิด วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการพัฒนาบุคลากร มุ่งเน้นสร้างกำลังหลักของประเทศที่สามารถบูรณาศาสตร์สาขาต่างๆ เข้าด้วยกันทั้งศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และความเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมแฟชั่น และอุตสาหกรรมของตกแต่งบ้าน ที่มีการเติบโตสูงในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และแข่งขันได้ในระดับสากล

วิทยาลัยฯ มีเป้าหมายขับเคลื่อนวิทยาลัยฯ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “Driving Beyond the Frontiers of Knowledge for Creative Industry” ซึ่งบุคลากรในชุดแรก ได้ดำเนินการจัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ ตลอดจนการจัดทำเป้าประสงค์และตัวชี้วัดร่วมกัน นับเป็นความภาคภูมิใจแก่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานที่เรามีความตั้งใจที่จะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จร่วมกัน

การจัดทำแผนของวิทยาลัยฯ ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี จนบัดนี้เป็นปีที่ 6 ซึ่งเป็นปีที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี และทีมงานได้บริหารงานในสมัยที่ 1 จึงได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์วิทยาลัยฯ ตามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2567 ที่มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ต่อมาได้มีนำแผนกลยุทธ์วิทยาลัยฯ มาถอดเป็นตัวชี้วัดรายบุคคลฯ และตัวชี้วัดสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้การพัฒนาอย่าง มีทิศทางเป้าหมายของวิทยาลัยฯ เพื่อให้การพัฒนาอาจารย์ให้มีความเป็นเลิศ ทั้งด้านการสอน ด้านการวิจัยและด้านการบริกาวิชาการ

หลักการและเหตุผล

จากประสบการณ์ด้านการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและการทำนโยบายภาครัฐด้านการพัฒนาบัณฑิตและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของกลุ่มคณาจารย์ฯ มากว่า 15 ปี ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน และเล็งเห็นถึงความต้องการของการบูรณาการศาสตร์ระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่งานสร้างสรรค์ การพัฒนานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นี้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) เน้นกลไกหลักของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) และเศรษฐกิจฐานความรู้ในยุคดิจิทัล (Digital-based knowledge economy) ตามลำดับ

การกำเนิดวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการพัฒนาบุคลากร ให้มีแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ เน้นการเกิด “ศาสตร์ใหม่ทางด้านกระบวนการคิด และการสร้างคุณค่านวัตกรรม” นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์1 (Creative Industry) รวมความหมายในวงกว้างทั้งจากผลิตภัณฑ์ สถาปนิก สื่อ และการบริการ โดยจำแนกได้กลุ่ม ที่หลากหลายกันไป เนื่องจากเป็นคำศัพท์ที่เพิ่งจะมีการอธิบายความหมายในยุคต้นของศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้จากแนวคิดของ UNESCO Institute for Statistics Model ได้จำแนกประเภทของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็น 7 ประเภท และ พบว่า 66.34% ของประเภทสินค้าการออกแบบ (Design goods) เป็นรายได้ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในโลก ตามรายงานของ UNCTAD ปี 2015 ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ในเรื่องของการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ของรัฐบาลคณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มีอัตลักษณ์ใน กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และกลุ่มสินค้าแฟชั่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพของประเทศไทยที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์แข่งขันได้ในระดับสากล

เนื่องจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นแหล่งให้ความรู้แบบสมบูรณ์แบบ (Comprehensive university) จึงควรมีการวางกลยุทธ์ในการจัดเตรียมบุคลากร โดยการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยแนวคิดในการพัฒนาการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์การเลือกเรียนข้ามศาสตร์อย่างเสรี รวมถึงให้มีทักษะและแนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการใหม่ (Entrepreneurial mindset) ที่นำผลงานสร้างสรรค์ นวัตกรรมในเชิงทดลองมาพัฒนาให้เป็นผลงานจริง และการทำงานเป็นทีมแบบบูรณาการศาสตร์ ที่มีการจัดทำแผนธุรกิจร่วมกันระหว่างนิสิตต่างคณะ ปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้เริ่มทำการพัฒนาการศึกษาแนวใหม่ โดยอ้างอิงกรอบมาตรฐานการศึกษาของชาติ ผ่านมาตรฐานอาชีพ เพื่อทำการเทียบเคียงแหล่งความรู้และยกระดับการศึกษาของบุคลากรไทย การสอนแบบโมดูล (Module) หรือการเชื่อมโยงงานวิจัยกับการพัฒนาสินค้าในชุมชน ตอบสนองกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) และการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในการสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาไทยให้มีเอกลักษณ์ร่วมกับความก้าวหน้าของศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน

กลุ่มคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะและการออกแบบแฟชั่นกับด้านวิทยาศาสตร์ทางอัญมณีและเครื่องประดับ ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี เครื่องประดับและแฟชั่นอย่างต่อเนื่อง และสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยด้วยผลงานรางวัลระดับนานาชาติ เหรียญทองเกียรติยศ และ รางวัล Special Award on Stage จาก 45th International Exhibition of Inventions Geneva 2017 และระดับชาติ รางวัล Gold Award จำนวน 2 รางวัล จากเวทีมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ในปี 2557 จากงานด้านแฟชั่นและผ้าไทย และในปี 2558จากงานด้านเครื่องประดับ นอกจากนี้จากสถิติผลงานวิจัยย้อนหลัง 5 ปี คณะกรรมการฯ กลุ่มนี้ได้รับทุนดำเนินงานวิจัย เป็นจำนวนเงิน 92.87 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.5% ของจำนวนเงินวิจัยทั้งหมดที่มหาวิทยาลัยได้รับ และมีผลงานสิทธิบัตร จำนวน 15 ชิ้น หรือ คิดเป็น 34.1% ของจำนวนสิทธิบัตรทั้งหมดของมหาวิทยาลัย

วิทยาลัยฯ มุ่งเน้นเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีการเติบโตสูงในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และแข่งขันได้ในระดับสากล เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่าย (Community) ระหว่าง คณาจารย์ นักวิจัย นิสิต ช่างฝีมือ และผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ โดยผ่านพื้นที่ทำงานเทคนิคเชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน (Makerspace) การสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเครือข่ายด้วยการจัดตั้งหน่วยงานอิสระ (Foundation) เพื่อดูแลบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพของวิทยาลัยฯ และได้วางแผนในการขยายฐานความร่วมมือการเรียนการสอนกับหน่วยงานในต่างประเทศ (Corporate curriculum) โดยมุ่งหวังให้บุคลากรที่เป็นผลผลิตจากวิทยาลัยฯสามารถขับเคลื่อนประเทศไทย โดยยกระดับผลิตภัณฑ์ต้นน้ำของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรีในเวทีสากล